คเณศชยันตี เป็นหนึ่งในเทศกาลของศาสนาฮินดู ที่เชื่อว่าเป็นวันประสูติแห่งองค์พระคเณศ ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ ในช่วงกลางเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยในปีนี้ จะตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2566
ซึ่งความเชื่อในวัน คเณศชยันตี นั้น เป็นความเชื่อจากคัมภีร์มุทฺคลปุราณะ และความเชื่อของชาวมราฐี ในรัฐมหาราษฏระ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐที่มีผู้บูชาต่อพระคเณศมากที่สุด โดยเชื่อว่า วันคเณศชยันตี นั้น เป็นวันประสูติขององค์พระคเณศ ส่วนเทศกาลคเณศจตุรถี เชื่อว่าเป็นวันเฉลิมฉลองให้แก่องค์พระคเณศที่เสด็จมายังโลกมนุษย์ในช่วงนั้น ซึ่งจะเรียกอีกชื่อว่า “คเณศ มโหตฺสว” อันหมายถึง การเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ คเณศชยันตี และ คเณศจตุรถี ก็มีความเชื่อด้วยว่า ทั้ง 2 วันนั้น เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระพิฆเนศเช่นกัน แต่ต่างกันที่ช่วงเวลา
สิ่งที่ควรปฏิบัติ ในวันคเณศชยันตี
ชำระร่างกายให้สะอาด
ใส่เสื้อผ้าสีสด หรือสดใส
บูชาองค์พระคเณศด้วย ธูป/กำยาน ประทีป
ถวายผลไม้ ดอกไม้ มาลัย
ถวายขนมลาดู / โมทกะ (โดยเฉพาะลาดูงาดำ)
ถวายปัญจะเมวา ธัญพืช หรือเมล็ดงา
สวดมนต์บูชาต่อองค์พระคเณศเพื่อขอพร
บริจาค ทาน หรือสิ่งของ แก่ผู้ยากไร้
วิธีไหว้
จุดประทีป และธูปบูชา หน้าองค์พระพิฆเนศ
สวด “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” 108 จบ
ตามด้วยบทคเณศคายตรี “โอม กัง คณปัตเย นะโม นะมะหะ ศรี สิทธิวินายักกา นะโม นะมะหะ อัสถะวินายักกา นะโม นะมะหะ คณปติ บับป้า โมรยา” (หากสวดไม่ได้ให้เปิดเพลงแล้วนั่งสมาธิ)
หลังจบบทคเณศคายตรี ให้ถวายดอกไม้, ผลไม้, ข้าวสาร, ฝ้ายสีแดง-เหลือง น้ำปัญจมฤต (น้ำนม นมเปรี้ยว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง เป็นต้น) ที่ขาดไม่ได้เลยคือขนมลาดูงา
นำของไหว้ โดยเฉพาะขนมลาดูงา เก็บไว้รับประทานส่วนหนึ่ง หรือนำไปแจกเป็นทาน หรือคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความศรัทธาต่อองค์พระพิฆเนศที่เรามีต่อตัวพระองค์ เมื่อเรามีความศรัทธา เชื่อว่าก็จะได้รับความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการจากพระองค์อย่างแน่นอน